เชียงราย

Main Menu

อ่านก่อนเที่ยว
รู้จักเชียงราย
เชียงรายเป็นจังหวัดเหนือสุดในประเทศไทย อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งแม่น้ำ ขุนเขา และป่าไม้ เป็นเมืองเก่าแก่ที่มีประวัติการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่ยุคโบราณ และยังมีโบราณสถานอันควรค่าแก่การรักษาหลงเหลือหลายแห่ง รวมถึงเป็นแหล่งกำเนิดศิลปะล้านนาไทยอันงดงามวิจิตรบรรจง ซึ่งสืบทอดกันมาตั้งแต่ในสมัยพญามังรายผู้สร้างเมืองเชียงรายและอาณาจักรล้านนา จึงเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่มีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมกันไม่เคยขาด
ข้อมูลทั่วไปของจังหวัด
ที่ตั้ง อยู่เหนือสุดของประเทศไทย ในภาคเหนือตอนบน ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 785 กม.
พื้นที่ 11,678.369 ตร.กม.
อาณาเขต ทิศเหนือ - ประเทศพม่า และ ประเทศลาว
ทิศใต้ - จ.ลำปาง และ จ.พะเยา
ทิศตะวันออก - ประเทศลาว
ทิศตะวันตก - จ.เชียงใหม่ และ ประเทศพม่า
แม่น้ำ แม่น้ำสำคัญมีดังนี้
แม่น้ำกก มีความยาวตลอดสาย 145 กม.
แม่น้ำโขง มีความยาวตลอดสาย 94 กม.
แม่น้ำอิง มีความยาวตลอดสาย 100 กม.
แม่น้ำคำ มีความยาวตลอดสาย 85 กม.
แม่น้ำลาว มีความยาวตลอดสาย 117 กม.
ภูมิอากาศ

แบ่งได้ 3 ฤดู
ฤดูร้อน - กลางเดือน มี.ค. ถึงกลางเดือน พ.ค. อุณหภูมิเฉลี่ยคือ 41.3 องศา ซ. อากาศอบอ้าวและแห้งแล้ง อาจมีพายุฝนฟ้าคะนองในฤดูร้อนเกิดขึ้นในช่วงเดือน เม.ย.
ฤดูฝน - กลางเดือน พ.ค. ถึงกลางเดือน ต.ค. มีฝนตกชุกในช่วงเดือน ส.ค. และ ก.ย. มีพายุหมุนเขตร้อนพัดเข้ามาสู่ภาคเหนือตอนบน ซึ่งทำให้ฝนตกชุกมากกว่าปกติ หรือเกิดน้ำท่วมฉับพลัน
ฤดูหนาว - กลางเดือน ต.ค. ถึงกลางเดือน ก.พ. เมื่อลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดเข้าสู่ประเทศไทยประมาณ 4 เดือน อากาศหนาวจัดในช่วงเดือน ธ.ค. และ ม.ค. โดยเฉพาะในเขตเทือกเขา อุณหภูมิต่ำสุดที่เคยวัดได้คือ 1.5 องศา ซ.

คำขวัญประจำจังหวัด เหนือสุดในสยาม ชายแดนสามแผ่นดิน ถิ่นวัฒนธรรมล้านนา
ดวงตราประจำจังหวัด รูปช้างสีขาว
ดอกไม้ประจำจังหวัด พวงแสด
ต้นไม้ประจำจังหวัด กาสะลองคำหรือปีบทอง

ช้าง ตราประจำ จ.เชียงราย
เมื่อพญามังรายรวบรวมหัวเมืองฝ่ายเหนือในอาณาเขตรอบ ๆ ได้แล้ว ทรงกรีฑาทัพไปตีหัวเมืองฝ่ายใต้ลงมา ชึ่งได้ไปรวมพล ณ เมืองลาวกู่เต้า หมอควาญได้นำช้างมงคลของพญามังรายไปผูกไว้ในป่าหัวดอยทิศตะวันออก แต่ช้างเกิดพลัดหายไป พญามังรายจึงเสด็จติดตามรอยช้างไปจนถึงดอยทอง ริมแม่น้ำกก ได้ทัศนาภูมิประเทศที่ราบลุ่มอุดมสมบูรณ์อันเป็นชัยภูมิที่ดี จึงได้สร้างเมืองใหม่ขึ้นที่นั่น ให้ก่อปราการโอบดอยทองไว้ในท่ามกลางเมือง ขนานนามเมืองว่า เมืองเชียงราย ตราประจำจังหวัดจึงเป็นรูปช้าง

แม้ปัจจุบันเชียงรายจะไม่มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวมากเท่าจังหวัดใกล้เคียงอย่างเชียงใหม่ แต่เชียงรายก็มีเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรม วัฒนธรรม และศิลปะล้านนาอันสืบอายุยืนยาวเป็นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาชม นอกจากนั้นชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวไทยภูเขา ความงดงามตามธรรมชาติของเทือกเขาสลับซับซ้อน และแม่น้ำสายต่างๆ รวมถึงการเป็นจังหวัดเหนือสุดแดนสยามที่มีอาณาเขตติดต่อกับเพื่อนบ้านถึงสองประเทศ ทำให้เชียงรายมีเสน่ห์เสมอลำหรับผู้รักการเดินทาง

สภาพธรรมชาติ
เชียงรายเป็นเมืองชายแดนที่ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งขุนเขา เช่นเดียวกับเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน ทั้งนี้เพราะเชียงรายมีสภาพธรรมชาติเป็นเทือกเขาสลับซับช้อน ประมาณว่าพื้นที่ กว่า 90% เป็นภูเขาสูง มีความสูงถึง 1,500 - 2, 000 ม. จากระดับน้ำทะเล โดยเฉพาะตามแนวเทือกเขาผีปันน้ำที่กั้นพรมแดนไทย - พม่า เทือกเขาสลับซับซ้อนเหล่านี้ทำให้เชียงรายเต็มไปด้วยธรรมชาติสวยงาม ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้หลายแห่งที่ยังคงความสมบูรณ์ของพืชพรรณและสัตว์ป่า ตามยอดดอยสูงมีจุดชมความงดงามของทิวทัศน์เทือกเขาและที่ราบ รวมทั้งทะเลหมอกที่ปรากฏอยู่เกือบทุกฤดูกาล ขุนเขาที่ชุ่มชื้นเหล่านี้ยังเป็นแหล่งต้นน้ำ ลำธาร จุดกำเนิดของธารน้ำตกงดงามหลายแห่ง เช่น น้ำตกขุนกรณ์ น้ำตกปูแกงซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของเชียงรายมานานแล้ว
เชียงรายเป็นจุดแรกที่แม่น้ำโขงไหลผ่านเข้าสู่ประเทศไทย เริ่มต้นจากพรมแดนไทย ลาว และพม่า บริเวณสามเหลี่ยมทองคำผ่าน อ.เชียงแสนและเชียงของ ก่อนไหลสู่ประเทศลาวอีกครั้งที่ อ.เวียงแก่น รวมระยะทางทั้งสิ้น 94 กม. แม่น้ำโขงเป็นพรมแดนที่แบ่งกั้นระหว่างไทย-ลาว เป็นเส้นทางสัญจรกับประเทศเพื่อนบ้าน และแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ได้รับความนิยมเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก นอกจากนี้ยังอุดมไปด้วยปลาน้ำจืดนานาพันธุ์ โดยเฉพาะปลาบึก ปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดที่พบในแม่น้ำโขงเพียงแห่งเดียวในโลก และที่บ้านหาดไคร้ อ.เชียงของ จ.เชียงรายก็เป็นแห่งเดียวที่มีการจับปลาชนิดนี้ได้เป็นประจำทุกปี
นอกจากแม่น้ำโขง เชียงรายยังมีแม่น้ำกก แม่น้ำอิง แม่น้ำคำ แม่น้ำลาวและแม่น้ำสายไหลหล่อเลี้ยงชุมชนและพื้นที่เกษตรกรรมในที่ราบ โดยมีแม่น้ำกกที่ไหลผ่านตัวเมืองเชียงราย ก่อนลงสู่แม่น้ำโขงที่ อ.เชียงแสน นับเป็นแม่น้ำสายสำคัญ เพราะนอกจากใช้อุปโภคบริโภค ริมฝั่งแม่น้ำกกยังมีธรรมชาติงดงาม และเป็นที่
ตั้งของชุมชนชาวไทยภูเขา ส่งผลให้กิจกรรมล่องแม่น้ำกกได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวที่รักการผจญภัยอย่างมาก ถึงแม้พื้นที่ส่วนใหญ่ของเชียงรายจะเต็มไปด้วยขุนเขา แต่ป่าไม้ตามเทือกเขาเหล่านั้นได้ถูกทำลายลงไปอย่างมากมายในอดีตหลงเหลือเพียงเทือกเขาหัวโล้นสุดสายตาปรากฏให้เห็นตามเส้นทางทั่วไป ทั้งนี้เป็นผลจากการที่มีชาวไทยภูเขาอาศัยอยู่ตามเทือกดอยเป็นจำนวนมาก ชาวเขาเหล่านี้ยึดอาชีพการเกษตรด้วยวิธี
ทำไร่เลื่อนลอย ทำให้มีการตัดไม้ทำลายป่าเป็นบริเวณกว้างในแต่ละปี รวมทั้งบางส่วนที่ลักลอบปลูกฝิ่นตามแนวชายแดนพม่า
เมื่อป่าไม้ถูกทำลายไป จึงส่งผลให้แหล่งต้นน้ำลำธารของเชียงรายเหือดแห้งลง หน่วยงานราชการหลายแห่งจึงได้พยายามฟื้นฟูสภาพธรรมชาติของเชียงรายให้กลับคืนมา โดยเฉพาะบนดอยตุง ได้มีโครงการพัฒนาดอยตุงเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระศรีนครินทราฯ โดยให้ชาวไทยภูเขาทำการเกษตรอย่างถูกวิธี ยกเลิกการปลูกพืชเสพย์ติด และปลูกป่าขึ้นทดแทน สำหรับป่าไม้ของเชียงรายที่ยังคงความสมบูรณ์อยู่ได้รับการคุ้มครองให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ เช่น อช.ดอยหลวง อช.ขุนแจ และวนอุทยานน้ำตกขุนกรณ์

ประวัติและความเป็นมา
เชียงรายเป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำกก จึงเป็นดินแดนที่มีผู้คนเข้ามาตั้งหลักแหล่งตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และมีความรุ่งเรืองสืบต่อกันมาหลายยุคสมัยจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ค้นพบในเขตที่ราบลุ่มรอบแม่น้ำกก สันนิษฐานได้ว่าบริเวณนี้เป็นศูนย์กลางของชุมชนมาแล้วตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 1800 เพราะมีร่องรอยของซากเมืองที่มีความเจริญทางวัฒนธรรมและศิลปะอยู่ตามริมแม่น้ำกก ซากเมืองโบราณที่ค้นพบในปัจจุบันมีถึง 27 เมือง ตั้งแต่ อ.ฝางของเชียงใหม่ ซึ่งเป็นต้นแม่น้ำกกมาจนถึงเมืองเชียงแสน ชึ่งโบราณสถานเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า มีชุมชนตั้งถิ่นฐานอยู่ในลุ่มแม่น้ำกกอย่างหนาแน่นและได้ขยายตัวสร้างบ้านแปงเมืองอันไม่ขาดสาย
ประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงรายเริ่มต้นในสมัยต้นพุทธศตวรรษที่ 19 โดยพญามังราย (พ.ศ. 1781 - 1860) ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์มังราย บุตรของพญาลาวเม็ง ผู้ครองนครหิรัญนครเงินยาง (เชียงแสนในปัจจุบัน) ได้ขึ้นครองราชย์แทนพญาลาวเม็งในปี พ.ศ. 1802 และได้ย้ายราชธานีจากเมืองหิรัญนครเงินยางมาสร้างราชธานีแห่งใหม่ที่ริมฝั่งแม่น้ำกก เมื่อ พ.ศ. 1805 และได้ขนานนามว่า เชียงราย หมายถึง "เมืองของพญามังราย"
จากนั้นจึงได้รวบรวมหัวเมืองต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครือญาติสายเลือดลัวะจักราช เช่น เมืองเชียงไร เมืองไร เมืองปง เมืองเวียงคำ เชียงเงิน เชียงของ ฯลฯ เข้ามาไว้ในอำนาจ และแผ่อำนาจเข้าไปในเขตลุ่มน้ำปิง
ปื พ.ศ. 1839 ทรงย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำปิง ให้ชื่อราชธานีใหม่ว่า "นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่" และครองราชย์อยู่ที่เชียงใหม่ตลอด โดยให้ราชโอรสไปครองเมืองเชียงรายแทน เชียงรายจึงกลายเป็นเมืองบริวารของ
เชียงใหม่ไป
เมื่อพญามังรายสวรรคตลง ภายในอาณาจักรล้านนาอันมีเมืองเชียงใหม่เป็นราชธานีเกิดความแตกแยก เจ้าผู้ครองนครแก่งแย่งชิงอำนาจอันจนเกิดสงครามกลางเมือง พระเจ้าบุเรงนองฉวยโอกาสเข้าตีอาณาจักรส้านนาสำเร็จ พม่าได้ปกครองอาณาจักรล้านนาเป็นเวลากว่า 200 ปี และได้ฟื้นฟูเมืองเชียงแสนขึ้นเป็นเมืองสำคัญในการปกครองของหัวเมืองฝ่ายเหนือ
ต้นพุทธศตวรรษที่ 24 สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี พญากาวิละ เป็นผู้มีบทบาทสูงในการเกลี้ยกล่อมให้บรรดาเมืองต่าง ๆ ในล้านนาร่วมมือกันต่อสู้กับพม่า แต่ยังไม่สำเร็จ จนกระทั่งสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ทรงส่งกำลังมาสนับสนุนพญากาวิละ ต่อสู้กับพม่าจนเป็นผลสำเร็จ ทรงสถาปนาให้เชียงใหม่เป็นประเทศราช
ของกรุงรัตนโกสินทร์ และแต่งตั้งพญากาวิละเป็น "พระเจ้ากาวิละ" ปกครองเมืองเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2347 พระเจ้ากาวิละทรงยกทัพไปตีเมืองเชียงแสน และกวาดต้อนผู้คนออกจากบริเวณเมืองจนหมด
เมืองต่างๆ รวมทั้งเชียงรายจึงถูกทิ้งให้เป็นเมืองร้าง
ต่อมาในปี พ.ศ. 2386 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 เชียงรายได้รับการบูรณะขึ้นอีกครั้งในฐานะเมืองบริวารของเชียงใหม่ โดยมีเชื้อพระวงศ์ชั้นผู้ใหญ่เป็นเจ้าปกครองนคร
ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงดำเนินนโยบายสร้างความเป็นเอกภาพทางการเมือง ประกาศจัดตั้งมณฑลพายัพขึ้นในปี พ.ศ. 2427และยกเลิกหัวเมืองประเทศราชล้านนาไทย เมืองเชียงรายจึงจัดเป็นเมืองหนึ่งซึ่งขึ้นตรงต่อมณฑลพายัพ ในสมัยรัชการที่ 6 การปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลถูกยกเลิก เชียงรายจึงได้จัดตั้งขึ้นเป็น
จังหวัดหนึ่งของสยามประเทศมานับแต่นั้น